ลักษณะของสะพาน ของ สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9

สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นสะพานขึงเสาคู่ ตามแนวคู่ขนานทางด้านท้ายน้ำของสะพานพระราม 9 มีขนาด 8 ช่องจราจร (แบ่งเป็นขาเข้าเมืองและขาออกเมืองฝั่งละ 4 ช่องจราจร) และมีความกว้างวัดจากขอบสะพานทั้ง 2 ฝั่งได้ประมาณ 42 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย ตัวสะพานจะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถวิ่งขึ้นและลงสะพานได้สะดวกมากขึ้น เพื่อลดการชะลอตัวสะสมในช่วงขาขึ้นสะพาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับสะพานพระราม 9 โดยท้องสะพานมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ 41 เมตร และเสาขึงมีความสูง 87 เมตร ซึ่งเท่ากับสะพานพระราม 9 เดิม[1] ส่วนช่วงกลางสะพานยาว 450 เมตร และตัวสะพานยาว 780 เมตร มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ในพื้นที่แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และบรรจบกับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ในพื้นที่แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครโดยตรง รวมระยะทางทั้งโครงการจำนวน 2 กิโลเมตร นอกจากนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังจำลองสะพานเต็มรูปแบบเพื่อทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม ซึ่งผลปรากฏว่าสามารถรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานแห่งนี้จึงมั่นคงแข็งแรงอย่างมากในการรองรับเหตุแผ่นดินไหวหรือพายุ[2] ออกแบบโดยบริษัท เอพซิลอน จำกัด ซึ่งได้มีการออกแบบให้สอดคล้องและไม่โดดเด่นกว่าสะพานพระราม 9 เดิม[3]

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้พิจารณาให้สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562[4] ผู้ออกแบบจึงมีการออกแบบสะพานให้สื่อถึงพระองค์ในหลายส่วน เช่น ส่วนยอดของเสาสะพาน ซึ่งเปรียบเสมือนฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์, สายเคเบิลสีเหลือง สีประจำวันจันทร์ วันพระบรมราชสมภพของพระองค์, ประติมากรรมพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมะโรง นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพของพระองค์ คือ พ.ศ. 2495, เสาขึงรั้วกันกระโดด สื่อถึงต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์ เป็นต้น[5] ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง[2] รวมถึงได้ขอพระราชทานชื่อสะพานเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.wikimapia.org/#lang=en&lat=13.68201&lon... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://www.bangkokbiznews.com/business/1004316 https://www.condonewb.com/insight/1895/%E0%B8%AA%E... https://www.facebook.com/KepBieTaiDHunRaan/videos/... https://www.google.com/maps/@13.68201,100.51798,17... https://wego.here.com/?map=13.68201,100.51798,14,n... https://map.longdo.com/?mode=icons&lat=13.68201&lo...